วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ศัพท์โทรคมนาคม


Broadband:บรอดแบนด์ เป็นคำที่ใช้กันอย่างกว้าง ความหมายจึงแตกต่างกันไปตามบริบทที่ใช้ ทุกวันนี้จัดเป็นศัพท์ทางการตลาดมากกว่าศัพท์เทคนิค หมายถึงโทรคมนาคมที่มีแถบความถี่กว้างไว้ส่งข้อมูล สามารถให้บริการ ต่าง ๆ ผ่านบรอดแบนด์ในลักษณะเดียวกับทางด่วนที่ยิ่งมีมากเลน รถยิ่งขึ้นไปวิ่งได้มากคันขึ้นเป็นวิธีการส่งสัญญานที่อาศัยความถี่จำนวนมากซึ่งแบ่งออกเป็นช่องสัญญานต่าง ๆ ยิ่งแบนด์วิดท์ (ความกว้างแถบความถี่)กว้างเท่าไหร่ สมรรถนะในการรับส่งข้อมูลยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น เช่น สายอากาศทีวีธรรมดาอาจรับสัญญานได้เพียงบางช่องเท่านั้น แต่สายอากาศ ’บรอดแบนด์’ จะรับได้หลายช่องกว่า บ้างก็หมายถึงวงจรที่เร็วกว่าการเรียกสายหรือการต่อเลขหมายโทรศัพท์ เป็นวงจร’เคเบิลโมเด็ม’จากผู้ให้บริการเคเบิลทีวี หรือวงจรดีเอสแอล(สายผู้เช่าดิจิทัล)จากผู้ให้บริการในพื้นที่ พูดง่าย ๆ คือ เป็นอะไรก็ได้ที่ “เร็ว”
Brownfield:คำตรงข้ามของคำว่า ‘green field’ หมายถึง ข้าวของทุกอย่าง(อาทิอุปกรณ์ สถาปัตยกรรมโครงข่าย วิธีดำเนินการ ) ในโครงการด้านโครงข่ายโทรคมนาคม (ดูศัพท์ Greenfield และ Legacy)
Cell phone:เป็นศัพท์ที่คนอังกฤษนิยมใช้ หมายถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทั้งที่เป็นแบบมือถือและติดตั้งประจำรถ
Celliquette:มรรยาททางสังคมที่ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือพึงยึดถือปฏิบัติ เช่น ไม่เปิดเครื่องโทรศัพท์ในโรงภาพยนตร์ หรือในที่ประชุมสัมมนา ไม่คุยโทรศัพท์เสียงดังเวลามีผู้คน(ที่ไม่ใช่ ’กากีนั๊ง’ หรือคนกันเอง)อยู่ด้วย เพราะจะเป็นการรบกวนผู้อื่น
Common Carrier:ผู้ร่วมให้บริการโทรคมนาคม ในแวดวงโทรคมนาคม ศัพท์คำนี้ใช้หมายถึงบริษัทโทรศัพท์หรือบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์
Digital divide:ศัพท์บัญญัติใน ‘ศัพท์คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน’ ใช้ว่า ‘ความเหลื่อมล้ำทางดิจิตอล’ มาจากแนวคิดที่ว่า คนจนเสียเปรียบคนรวยมาก เพราะฝ่ายหลังสามารถเข้าถึง’แก้วแหวนเงินทอง’แห่งยุคดิจิตอล ประธานาธิบดีบิล คลินตันเคยใช้คำว่า ‘digital divide’ ชี้ว่า มี’ความเหลื่อมล้ำทางดิจิตอล’ระหว่างครอบครัวที่ยากจนกับครอบครัวที่ร่ำรวย เมื่อกล่าวถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ในสหรัฐครอบครัวที่มีรายได้ต่อปีสูงกว่า 75,000 ดอลลาร์มีโอกาสที่จะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากกว่าครอบครัวคนจน 20 เท่า เวลาพูดถึง ‘ความเหลื่อมล้ำทางดิจิตอล’ มักจะมองความแตกต่างในแง่ของจำนวนโทรศัพท์ จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต หรือจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ต่อหัวในประเทศจนและประเทศรวย
End user: ผู้ใช้ขั้นปลาย, ผู้ใช้บริการโทรคมนาคมปลายทาง หมายถึง บุคคล องค์กร บริษัท หน่วยงานรัฐบาล หรือ หน่วยงานนอกเหนือจาก IXC (Interexchange Carrier) ที่ใช้บริการระหว่างรัฐ (interstate service) โดยไม่ได้นำไปขายต่ออีกทอดหนึ่ง สมัยก่อนหมายถึงผู้ที่โทรออกหรือรับสายเข้า แต่การแพร่กระจายของเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้เกิดความเห็นไม่ลงรอยกันว่า การส่งสัญญานโทรคมนาคมเริ่มต้นและสิ้นสุดลงตรงไหน
Greenfield : หรือเขียนแยกเป็น ‘green field’ ใช้หมายถึงอะไรที่ใหม่ หรือข้าวของที่นำมาพัฒนาขึ้นใหม่ เป็นคำตรงข้ามของคำว่า ‘legacy’ (ดูศัพท์ Legacy)‘greenfield telecom network’ จึงเป็นโครงข่ายโทรคมนาคมที่สร้างขึ้นใหม่โดยไม่ได้อาศัยอุปกรณ์หรือสถาปัตยกรรมโครงข่ายดั้งเดิมใด ๆ คำ ๆ นี้มีที่ใช้กว้างขวางออกไปจนครอบคลุมแทบทุกด้านของการลุงทุนใหม่ ๆ เป็นต้นว่า greenfield company, greenfield evaluation, greenfield opportunities, ฯลฯ
Hot spot หรือ hotspot :ศัพท์คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ฉบับราชบัณฑิตฯ แปลเป็นไทยว่า ‘จุดพร้อมโยง’ แต่ดูเหมือนตลาดจะใช้ทับศัพท์กันไปล่วงหน้าเสียแล้วเช่นเดียวกับอีกหลายๆ คำ Hot spot หมายถึง อาณาบริเวณที่เราสามารถเข้าถึงโครงข่ายไร้สาย 802.11b หรือ ‘Wifi’ ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต สำหรับบ้านเรา Hot spot เชิงพาณิชย์จะครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 50-70 เมตร ท่านเพียงแต่หิ้วแล็ปท็อปคอมพิวเตอร์ หรือพีซี(คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล)สักเครื่องที่มีสมรรถนะด้านเทคโนโลยีไร้สายหรือมี ‘802.11 wireless card ’ติดมากับเครื่องด้วยไปอยู่ในเขตพื้นที่ใช้งาน ก็สามารถจะท่องเน็ตได้ ส่วนจะเสียงกะตังค์หรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าท่านจะไปโผล่อยู่แถวไหน แล้วจะรู้ได้ไงล่ะว่า ตรงไหนเป็น Hot spot? คำตอบก็คือ เปิดพีซีดูสิว่าเครื่อง “เห็น” โครงข่ายไหม แล้วลองเปิด browser ดูว่าจะเข้าไปได้ไหม ทุกวันนี้ในเมืองใหญ่ทั่วโลกล้วนมี Hot spot กันหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นตามย่านธุรกิจ ศูนย์การค้า ห้องรับรองในสนามบิน ห้องสมุด ค๊อฟฟี่ช็อป ฯลฯ ตัวอย่างที่คลาสสิกของ Hot spot ที่ได้รับการหยิบยกขึ้นมาบอกเล่ากันได้แก่ Bryan Park ในกรุงนิวยอร์ก พ่อค้าแม่ขายและร้านรวงต่าง ๆ บริเวณนั้นยอมลงทุนควักกระเป๋าจ่ายค่า ‘Hot spot ส่วนกลาง’ ร่วมกัน โดยหวังว่าบริการให้เปล่าอันนี้จะดึงดูดผู้คนเข้าไปเที่ยวในปาร์กมากขึ้น และแน่นอนว่านั่นหมายถึงเม็ดเงินที่จะถูกดูดจากกระเป๋า‘ว่าที่ลูกค้า’เหล่านั้นจะมากขึ้นเป็นเงาตามตัว!
ICT : ใช้ทับศัพท์ว่า ไอซีที เป็นคำย่อของ ‘Information and Communication Technologies’ :เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นการผสานคอมพิวเตอร์และการสื่อสารเข้าด้วยกัน จัดเป็นวลีครอบจักรวาล ใช้หมายถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ใช้ในการรวบรวม เก็บรักษา ค้นคืน ประมวลผล วิเคราะห์และส่งผ่านข้อมูล บางนิยามหมายถึงแหล่งข้อมูลหรือทรัพยากรที่อิงระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งที่อยู่โดด ๆ โดยตัวมันเองหรือเชื่อมต่อถึงกันเป็นโครงข่าย โดยเป็นได้ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ บ้างก็หมายถึงแทบทุกอย่างที่ใหม่และเกี่ยวข้องกับการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ต โทรศัพท์เคลื่อนที่ การสื่อสารผ่านดาวเทียม และโทรทัศน์ดิจิตอลผ่านสายเคเบิลหรือเสาอากาศ ฯลฯ บางคำจำกัดความ หมายถึง’เครื่องมือดิจิตอล’ที่ใช้สำหรับการดำเนินธุรกิจและแนวปฏิบัติในทางธุรกิจ สำหรับบางที่โดยเฉพาะแถบยุโรปจะใช้หมายถึงสาขาคอมพิวเตอร์และการสื่อสาร ซึ่งมักจะพบเห็นในหน้าตาของคำว่า "information technology" (IT)มากกว่า เพราะไอที ก็หมายรวมถึงเทคโนโลยีทั้งสองประเภทนี่เอง ส่วนความพร้อมด้านไอซีทีนี้ กล่าวกันว่าเป็นเรื่องของระดับนโยบาย แวดวงวิชาการ และองค์การพัฒนาเอกชนหรือ’เอ็นจีโอ
Legacy : หมายถึงทุกอย่างที่เรามีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ ซอฟต์แวร์ แฟ้มข้อมูลและงานเอกสาร ในพจนานุกรมส่วนใหญ่จะหมายถึงสิ่งที่ตกทอดมาจากอดีตหรือยุคก่อนหน้า เมื่อใช้กับอะไรก็จะมีนัยว่าสิ่งนั้นเรายังต้องอุ้มไว้แม้จะตกรุ่นหรือล้าสมัยไปแล้ว เนื่องจากการโละทิ้งจะยิ่งยุ่งยากหรือแพงกว่า มีแต่จะต้องใช้วิธีการปรับปรุงหรือยกเครื่องเอา เมื่อนำไปใช้เป็นคำคุณศัพท์ขยายนาม เช่น legacy media, legacy bank จะหมายถึง วิธีการที่ใช้กันในสมัยที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต
Low Power FM Radio หรือ LPFM : เป็นวิทยุเอฟเอ็มกำลังส่งต่ำ มีขึ้นในเดือนมกราคม ค.ศ. 2000 เมื่อครั้งที่คณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสาร(FCC)ของสหรัฐอเมริกา ออกใบอนุญาตประเภทใหม่ขึ้นสำหรับวิทยุเอฟเอ็มกำลังส่งต่ำที่ไม่ได้มีขึ้นในเชิงพาณิชย์ Low Power FM Radio (LPFM ก่อนหน้านั้น กำลังส่งที่ใช้กันจะสูงหลายพันวัตต์ (ราว 6,000 – 100,000 วัตต์) การจะมีสถานีวิทยุเอฟเอ็มสักแห่งหนึ่ง จึงต้องลงทุนอย่างน้อย 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่สถานี LPFM จะถูกกว่ากันมาก เครื่องส่งและสายอากาศจะมีราคาเพียง 2,000-5,000 เหรียญสหรัฐ จุดมุ่งหมายคือให้บุคคลและองค์กรเล็ก ๆ ได้เป็นเจ้าของและดำเนินกิจการวิทยุกระจายเสียงโดยไม่มุ่งแสวงกำไร และเปิดโอกาสให้กลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สื่อกระแสหลักได้มีเวทีสะท้อนความเห็นบ้าง นับว่าทำให้คนธรรมดาทั่วไปสามารถตั้งสถานีวิทยุได้ ทำนองเดียวกับที่ใคร ๆ ก็สร้างเว็บไซต์ของตัวเองได้ สถานีวิทยุเอฟเอ็มกำลังส่งต่ำนี้มีอยู่ 2 แบบคือ แบบกำลังส่ง 10 วัตต์ และแบบกำลังส่ง 100 วัตต์ คลื่นวิทยุนี้จะรับฟังได้ภายในรัศมีประมาณ 3-6 กม.ต่อมา FCC ได้ออกกฎเกณฑ์คุ้มครองบริการวิทยุ LPFM ซึ่งทำให้รายการทางวิทยุสายพันธุ์นี้มีความหลากหลายสะท้อนอัตตลักษณ์และสนองความต้องการของชุมชนได้มากขี้น
Nerd :เป็นคำแสลงที่เกิดขึ้นเมื่อทศวรรษที่ 1950 ใช้หมายถึงคนน่าเบื่อ ไร้เสน่ห์ ไม่น่าสนใจ เชย ในแวดวงไอที จะเป็นคำพ้องของ geek ในความหมายของคนที่อยู่แต่กับโลกคอมพิวเตอร์ ง่วนแต่เรื่องทางเทคนิค ตัวอย่างเช่น a computer nerd ทุกวันนี้ผู้ที่ถูกเรียกกันว่า nerd หรือบรรดา cybergeek ได้ประสบความสำเร็จกลายเป็นเศรษฐี หรือกระทั่งอภิมหาเศรษฐีกันไปหลายรายแล้ว จนเริ่มมีการพูดกันว่าน่าจะต้องให้คำนิยามคำ ๆ นี้กันเสียใหม่แล้ว
Netiquette:ศัพท์คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ใช้ว่า “มารยาทเครือข่าย” หมายถึงกฎกติกามารยาทอันดีงามที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตพึงสังวรณ์และยึดถือปฏิบัติ ปรกติจะใช้กับ อีเมล์ mailing list และเครือข่ายผู้ใช้หรือ ”กลุ่มข่าวยูสเน็ต” (Usenet news group)ตัวอย่างเช่น เวลาเขียนอีเมล์ถึงใคร ควรหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะที่ไม่สร้างสรรค์ หรือใช้ข้อความยั่วยุ‘กวนโอ๊ย’ ไม่ส่งข้อความที่ส่อไปในทำนองดูถูกดูแคลน ข่มขู่คุกคาม หรือทำร้ายจิตใจกัน อะไรที่เป็นเรื่อง ‘ส่วนตั๊วส่วนตัว’ ไม่อยากให้บุคคลที่ 3 ร่วมรับรู้ด้วย ก็อย่าเผลอคีย์ใส่ลงไป เพราะอีเมล์ของท่านอาจถูกส่งต่อไปยังผู้อื่นได้ เนื่องจากผู้รับสารทางอินเทอร์เน็ตไม่สามารถมองเห็นหน้าผู้ส่ง หรือได้ยินสุ้มเสียงอีกฝ่าย จึงควรใส่ใจระมัดระวังไม่ให้’หางเสียง’ หรือความหมายที่ต้องการจะสื่อถึงผู้รับสารผิดเพี้ยนไป เทคนิคที่ใช้กันแพร่หลายได้แก่ การใช้ เครื่องหมาย “smiley” ต่าง ๆ เช่น ที่ดูเหมือนหน้าคนกำลังยิ้ม J หรือพิมพ์ :-) ซึ่งใช้แสดงอารมณ์ขัน ชอบอกชอบใจ หรือการปลุกปลอบใจ,เครื่องหมาย :-( เหมือนเด็กปากแบะ ใช้แสดงความไม่พอใจ บ่งบอกว่าไม่เอาด้วยกับอีกฝ่าย และ ;-) ใช้บอกว่าเป็นเรื่องล้อเล่นกันหรือเป็นเรื่องโจ๊ก ฯลฯ
Netizen : โดยรูปศัพท์มาจากคำว่า internet กับ citizen ศัพท์คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ใช้ว่า “พลเมืองเครือข่าย” เรียก “พลเมืองอินเทอร์เน็ต” ก็ไม่น่าจะผิด หรือจะเป็นภาษาวัยโจ๋สั้น ๆ ง่าย ๆ ว่า “ชาวเน็ต” ก็ไม่น่าผิดกติกาเช่นกัน
Network: โครงข่าย, เครือข่าย การเชื่อมต่อระหว่างคอมพิวเตอร์มากกว่า 1 เครื่องขึ้นไปที่ทำให้สามารถติดต่อสื่อสารถึงกันและกันได้ โครงข่ายหรือเครือข่ายอาจรวมถึงอุปกรณ์สื่อสัญญาน เซอร์เวอร์ สายเคเบิ้ล อุปกรณ์จัดเส้นทาง (Router),และดาวเทียม โครงข่ายโทรศัพท์จึงหมายถึงระบบทั้งระบบที่ใช้ในการส่งข้อความทางโทรศัพท์
Number portability (NP):สิทธิการคงเลขหมายเดิม หรือการใช้เลขหมายเดียวทุกระบบ หมายถึงการที่ผู้ใช้บริการมีสิทธิจะเปลี่ยนย้ายบริการจากผู้ให้บริการรายหนึ่ง ไปยังผู้ให้บริการอีกรายโดยยังคงใช้เลขหมายเดิม เป็นการคุ้มครองผู้บริโภคที่ต้องทนใช้บริการโทรคมนาคมที่ไม่มีคุณภาพ เวลาเปลี่ยนเบอร์โทรฯที ก็แทบจะเป็นมนุษย์ล่องหนที่ใครตามตัวไม่ได้ขณะที่หน่วยงานหรือบริษัทห้างร้านจะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นมากมาย ตั้งแต่เปลี่ยนหัวจดหมาย หรือที่อยู่หน้าซอง ฯลฯ สิทธิการคงเลขหมายเดิมนี้สามารถแบ่งออกเป็น 1)สิทธิในการเปลี่ยนผู้ให้บริการ 2) สิทธิในการเปลี่ยนประเภทบริการ และ 3)สิทธิในการเปลี่ยนสถานที่เข้าถึงบริการ สำหรับในบ้านเรา กทช. พยายามผลักดันนโยบายการใช้สิทธิคงเลขหมายเดิมเมื่อมีการย้ายโครงข่ายผู้ให้บริการโทรคมนาคมมาตลอด คาดว่าจะคลอดออกมาภายในปีนี้ ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการระดมความคิดเห็นสาธารณะ ขั้นแรกจะบังคับใช้กับโทรศัพท์เคลื่อนที่ก่อน แต่กว่าจะได้ใช้งานจริง คงต้องรอการพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางซึ่งจะเก็บรักษาเลขหมายโทรศัพท์ทุกเลขหมาย รองรับระบบที่ผู้ให้บริการจะเชื่อมต่อเข้าไป หาก “เลขหมายเดียวทุกระบบ” ออกมาบังคับใช้ จะส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องแข่งขันกันพัฒนาคุณภาพบริการเพื่อรักษาฐานกลุ่มลูกค้า และช่วยให้การใช้ทรัพยากรเลขหมายโทรคมนาคมเป็นไปอย่างคุ้มค่า
Open skies : แปลโดยอรรถหรือแปลตรงตามรูปคำว่า ‘เปิดฟ้า’ หมายถึง ‘เปิดเสรีกิจการโทรคมนาคมด้านดาวเทียม’ ใช้กับกรณีที่รัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐอนุญาตให้มีการขายบริการโทรคมนาคมผ่านดาวเทียม ในสหรัฐอเมริกามีนโยบายเปิดให้มีบริการโทรคมนาคมผ่านดาวเทียม (‘Open skies’ satellite policy) ใคร ๆ ก็สามารถยื่นขออนุญาตยิงดาวเทียมและประกอบกิจการโทรคมนาคมผ่านดาวเทียม ซึ่งออกจะแน่นอนว่าจะได้รับอนุญาตกัน เมื่อกลางปี 1991 สหภาพยุโรปก็คิดจะ ‘เปิดเสรีกิจการโทรคมนาคมด้านดาวเทียม’ เช่นกัน และเริ่มอนุญาตให้มีการซื้อและดำเนินธุรกิจ ‘สถานีภาคพื้นดินสำหรับรับสัญญานดาวเทียม’ ไปบ้างแล้วโดยไม่ต้องเชื่อมต่อกับโครงข่ายของภาครัฐ
Telecom : “โทรคม” คำย่อของ “telecommunications” หรือ ”โทรคมนาคม” ในพากย์ไทย ซึ่งเป็นที่ยอมรับและใช้กันอย่างกว้างขวาง ถ้าเป็นคนอังกฤษจะมี s ห้อยท้าย (telecoms) ตามคำเต็ม น่าจะเรียกว่า “โทรคม”ตามรูปศัพท์เดิมได้เช่นกัน
Telecommunications: โทรคมนาคม “โทรคมนาคม” หมายถึง การติดต่อสื่อสารที่สามารถทำได้ในระยะไกล โดยอาศัยการเชื่อมต่อด้วยสาย เช่น โครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐาน โครงข่ายโทรเลข และการเชื่อมต่อแบบไร้สาย เช่น โครงข่ายโทรศัพท์มือถือ โครงข่ายดาวเทียม การรับส่งสัญญานเป็นได้ทั้งสัญญานไฟฟ้าหรือสัญญานแสง มีทั้งที่ผ่านทางสายหรือใยแก้วนำแสง และผ่านแม่เหล็กไฟฟ้า (ผ่านอากาศ)
Telephony : การโทรศัพท์,บริษัทโทรศัพท์ หมายถึงเรื่องของการส่งสัญญานเสียงผ่านเครือข่ายสื่อสารด้านโทรคมนาคม รากศัพท์มากจากภาษากรีกซึ่งแปลว่า “เสียงจากที่ไกลโพ้น” ระยะไม่กี่ร้อยปีแรกที่เริ่มมีอุตสากรรมโทรศัพท์ คำ ๆ นี้ใช้ในความหมายของธุรกิจด้านกิจการโทรศัพท์ แต่ต่อมาบรรดาบริษัทโทรศัพท์กลับสมัครใจจะเรียกธุรกิจของตนว่า “โทรคมนาคม” มากกว่า เพราะเป็นอะไรที่ครอบคลุมมากกว่าเสียง มาในระยะต้น ๆ ของทศวรรษที่ 1990 เมื่อบริษัทคอมพิวเตอร์พาเหรดกันเข้าแจ้งเกิดในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมอย่างคึกคัก คำว่า ‘Telephony’ จึงกลับมามีที่ใช้กันอีก บ้างก็หมายถึง การนำโทรศัพท์เข้าร่วมอยู่ในระบบเดียวกับสถานีงาน (workstation)อย่างไปรษณีย์เสียง(voicemail)กับแฟกซ์ที่ส่งเข้ามาก็ร่วมระบบกับอีเมล์ได้ เป็นต้น
Webhosting:นิยมใช้ทับศัพท์ว่า เว็บโฮสติง เป็นบริการที่ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตหรือไอเอสพี (Internet Service Provider - ISP)และ ผู้ให้บริการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตหรือไอเอพี (Internet Access Provider - IAPs) มีไว้ให้บริษัทต่าง ๆ นำเว็บไซต์ของตนไปไว้ในคอมพิวเตอร์ของ ISP คอมพิวเตอร์เหล่านี้จะพ่วงกับลิงค์ต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกับอินเทอร์เน็ต ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นไฮสปีดอินเทอร์เน็ตหรือ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดย IPจะคิดค่าบริการจากลูกค้าตามอุปกรณ์ที่ใช้และสมรรถนะในการรับส่งข้อมูล วิกิพีเดียให้นิยามว่าเป็น ”พื้นที่การใช้งานในอินเทอร์เน็ตสำหรับเว็บไซต์ทั่วไป” โดย เปรียบลักษณะของโฮสติงว่าเหมือนกับฮาร์ดดิสก์ในเครื่องคอมพิวเตอร์ ถ้าพื้นที่การใช้งานของคอมพิวเตอร์มาก ก็จะเก็บไฟล์หรือข้อมูลต่าง ๆ ได้มากตามไปด้วย
ที่มา : http://www.ntc.or.th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น